Find us on facebook youtube

การประเมินคู่สมรสที่มีบุตรยาก

ภาวะการมีบุตรยาก

     ภาวะมีบุตรยากหมายถึงภาวะคู่สมรสที่ไม่สามารถมีบุตรได้ภายใน 1 ปี  โดยมีความสัมพันธ์ทางเพศตามปกติและไม่มีการคุมกำเนิด โดยทั่วไปภาวะการมีบุตรยากเกิดขึ้นร้อยละ 10-15 ของคู่สามีภรรยาที่ต้องการมีบุตร
     ความสามารถในการมีบุตรขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยในการใช้ชีวิตร่วมกันของคู่สมรส   เมื่อตรวจสอบหาสาเหตุแล้วพบว่าภาวะการมีบุตรยากของคู่สมรสนั้นมีสาเหตุเกิดจากฝ่ายชายร้อยละ 25 จากฝ่ายหญิงร้อยละ 40 จากทั้งชายและหญิงร่วมกันร้อยละ 20 และที่เหลือร้อยละ 15 “ไม่ทราบสาเหตุ” (ไม่สามารถตรวจหาสาเหตุได้จากทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย)
     ดังนั้นในการประเมินภาวะมีบุตรยากจึงจำเป็นต้องประเมินจากทั้งสองฝ่ายแม้แต่ในกรณีที่ทราบสาเหตุแล้วจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะอาจมีความผิดปกติได้ทั้งสองฝ่าย ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของทั้งสองฝ่ายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาภาวะการมีบุตรยา

ประเมินภาวะการมีบุตรยากในผู้ชาย

เซลล์อสุจิผลิตโดยอัณฑะซึ่งถูกควบคุมการทำงานด้วยฮอร์โมนจากสมองส่วนที่ควบคุมการสืบพันธุ์ (ต่อม pituitaryและhypothalamus) สภาวะที่นำไปสู่ภาวะการมีบุตรยากในฝ่ายชายมีหลากหลาย อาจมีบางกรณีที่หาสาเหตุชัดเจนไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามการรักษาภาวะการมีบุตรยากของฝ่ายชายนั้นสามารถจะทำได้สำเร็จแม้ในกรณีที่ไม่สามารถวินิจฉัยสาเหตุอย่างชัดเจนได้
ประวัติและการตรวจร่างกาย

การถามประวัติและตรวจร่างกายอาจจะบอกความผิดปกติที่เป็นสาเหตุได้ ข้อมูลในอดีตต่างๆเช่นประวัติการติดเชื้อ(โรคทางเพศสัมพันธ์) เนื้องอกในอัณฑะ การผ่าตัด  กิจกรรมทางเพศ การใช้ยา การใช้และสัมผัสสารบางชนิด (บุหรี่ แอลกอฮอล์ รังสี สารสเตอรอยด์ เคมีบำบัด และสารเคมีที่เป็นพิษ) เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัย การดูองค์ประกอบอื่นเช่นขนาดของลูกอัณฑะตลอดจนความผิดปกติทางร่างกายบางอย่าง (เช่นเส้นเลือดขอดที่อัณฑะ) และการพัฒนาของลักษณะทางเพศ (ลักษณะการกระจายของขน ลักษณะหน้าอก) ล้วนแต่เป็นส่วนสำคัญที่แพทย์จะต้องตรวจ

อวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย(อัณฑะ) - กุลพัฒน์การแพทย์ สหคลินิก


การวิเคราะห์น้ำอสุจิ
หัวใจสำคัญในการประเมินภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชายคือการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ (การนับจำนวนอสุจิด้วยกล้องจุลทัศน์) การตรวจจะทำให้ทราบข้อมูลของน้ำอสุจิทั้งปริมาณโดยรวมของน้ำเชื้อ จำนวนตัวอสุจิรูปร่างและการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ
ฝ่ายชายควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองก่อนการเก็บตัวอย่างน้ำเชื้ออสุจิ 2-7 วัน   ถ้าเป็นไปได้การเก็บตัวอย่างน้ำเชื้ออสุจิควรจะทำและจัดเก็บที่คลินิกหรือห้องแล็บ แต่ถ้าไม่สามารถมาที่คลินิคได้ ก็อาจจะให้เก็บตัวอย่างที่บ้านโดยต้องเก็บในภาชนะที่ผ่านการฆ่าเชื้อและต้องส่งไปเก็บยังห้องปฎิบัติการภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากเก็บตัวอย่าง การเก็บตัวอย่างต้องทำโดยการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเท่านั้น จึงจะได้ผลการตรวจที่ถูกต้องแม่นยำ

หากผลการวิเคราะห์น้ำอสุจิพบความผิดปกติ แพทย์มักมีการขอตัวอย่างน้ำอสุจิเพิ่มเพื่อตรวจซ้ำ ควรทิ้งระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ก่อนการเก็บตัวอย่างน้ำอสุจิครั้งต่อไป

การวิเคราะห์น้ำอสุจิ - กุลพัฒน์การแพทย์ สหคลินิก


การตรวจเลือด
แพทย์จะขอตรวจเลือดถ้าคาดว่าปัญหาอาจเกิดมาจากฮอร์โมน
การทดสอบทางพันธุกรรม
สาเหตุของการมีบุตรยากนั้นอาจจะเกิดจากพันธุกรรมหรือความผิดปกติของโครโมโซม ในรายที่แพทย์สงสัยก็จะทำตรวจสอบเลือดอย่างเฉพาะเจาะจง บางกรณีปัญหาการมีบุตรยากอาจเกิดจากการขาดหายไปหรือความผิดปกติของโครโมโซมเพศชาย (โครโมโซม Y) ผู้ชายบางคนอาจสืบทอดยีนที่เกี่ยวข้องกับโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) ซึ่งทำให้เกิดภาวะการมีบุตรยากเนื่องจากจำนวนตัวอสุจิน้อยตํ่ากว่าเกณฑ์ กรณีนี้แพทย์ต้องหารือกับคู่สมรสถึงความเป็นไปได้และผลที่จะตามมาจากพันธุกรรมที่อาจส่งต่อไปถึงบุตรได้
การทดสอบอื่น ๆ

ถ้าแพทย์สงสัยว่ามีการอุดตันในส่วนของท่อส่งอสุจิ (ท่อ vas deferens และ epididymis) ก็จะมีการตรวจอัลตร้าซาวน์ผ่านช่องทวารหนัก การอุดตันนี้อาจจะเป็นมาโดยกำเนิดหรือเกิดขึ้นจากการอักเสบติดเชื้อขึ้นในภายหลัง

การอุดตันในส่วนของท่อส่งอสุจิ - กุลพัฒน์การแพทย์ สหคลินิก

ในกรณีของผู้ชายที่มีอสุจิตํ่ากว่าเกณฑ์หรือไม่มีเลยแพทย์อาจจะแนะนำให้ทำการตรวจชิ้นเนื้ออัณฑะ (เก็บตัวอย่างเนื้อเยื้อเล็กๆ) เพื่อวิเคราะน้ำอสุจิ ซึ่งทำโดยการผ่าตัดเปิดอัณฑะเป็นแผลขนาดเล็กๆและ อีกวิธีที่ใช้คือการใช้เข็มเจาะ(ใช้เข็มขนาดเล็กสอดเข้าไปในอัณฑะและดูดเก็บเนื้อเยื้อปริมาณเล็กน้อยออกมาเพื่อเป็นตัวอย่างในการตรวจ) การเก็บตรวจเนื้อเยื่อจะทำในห้องผ่าตัดโดยใช้ยาดมสลบ เนื้อเยื้อที่ได้จะทำให้วิเคราะห์ได้ว่ามีตัวอสุจิหรือไม่ และอาจเซลล์อสุจิไปแช่แข็งเพื่อใช้ในการรักษาแบบปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) ต่อไปได้

Surgical Sperm Recovery (SSR)- กุลพัฒน์การแพทย์ สหคลินิก



การประเมินภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง

ปัจจุบันนี้มีวิธีการตรวจมากมายเพื่อประเมินภาวะการมีบุตรยากในผู้หญิงโดยในแต่ละรายอาจใช้วิธีการตรวจและการตรวจพิเศษต่างกันไปตามความเหมาะสม อาจไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ทั้งหมดทุกวิธีที่มีอยู่    แพทย์มักเริ่มต้นการรักษาด้วยการซักถามประวัติการตรวจร่างกาย และทำการทดสอบเบื้องต้นบางอย่าง เพื่อวิเคราะห์ถึงความสามารถในการตกไข่ของฝ่ายหญิง
ประวัติทางการแพทย์
ประวัติทางสุขภาพที่ผ่านมา อาจช่วยในการหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก โดยแพทย์จะถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางเพศในช่วงวัยรุ่น (เช่นลักษณะเต้านม หรือขนในบริเวณต่างๆของร่างกาย)  ประวัติทางเพศ การเจ็บป่วยการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ การผ่าตัด การใช้ยา การสัมผัสสารบางชนิด (รังสี  แอลกอฮอล์ สารสเตอรอยด์ เคมีบำบัด และสารเคมีที่เป็นพิษ) รวมทั้งประวัติเกี่ยวกับการมีบุตรที่ผ่านมา
การตรวจร่างกาย

การตรวจร่างกายโดยทั่วไปอาจบอกได้ถึงความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย (เช่นความผิดปกติของการขึ้นของขน หรือความผิดปกติของการพัฒนาของลักษณะทางเพศ)  ส่วนการตรวจภายในจะทำให้ทราบถึงความผิดปกติของอวัยวะระบบสืบพันธุ์ภายในได้

การตรวจภายใน - กุลพัฒน์การแพทย์ สหคลินิก


การตรวจเลือด
ในผู้หญิง การตรวจเลือดจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับระดับฮอร์โมนหลายตัวที่มีบทบาทสำคัญในการสืบพันธุ์ ฮอร์โมนที่สำคัญหลายตัวผลิตจากต่อมไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ต่อมใต้สมองและรังไข่    ฮอร์โมนที่จะต้องตรวจนี้มี ฮอร์โมน FSH (Follicle-stimulating hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่บอกสภาพการทำงานของรังไข่    ฮอร์โมนTSH  เพื่อดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ และฮอร์โมนโปรแลกติน (Prolactin) เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง
วิธีการประเมินการตกไข่
การตกไข่ (การปล่อยเซลล์ไข่ออกจากรังไข่) เป็นขั้นตอนสำคัญในการตั้งครรภ์ของฝ่ายหญิง ภาวะการตกไข่ที่ผิดปกติอาจจะตรวจพบได้จากประวัติประจำเดือนหรือระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ เช่น การตรวจระดับฮอร์โมน LH ก่อนตกไข่  หรือฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรน ในช่วงครึ่งหลังของรอบประจำเดือน (luteal phase) (รูปที่ 2)

ประวัติการมีประจำเดือน
การขาดประจำเดือนเป็นสัญญาณที่บอกว่าไม่มีการตกไข่ ซึ่งเป็นเหตุให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้    การที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอเป็นสัญญาณบอกถึงความไม่สมํ่าเสมอของการตกไข่ ในกรณีนี้แม้จะไม่ได้ทำให้การตั้งครรภ์เป็นไปไม่ได้แต่ก็เป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์ให้เกิดการตั้งครรภ์ยากได้
อุณหภูมิของร่างกาย
การวัดอุณหภูมิร่างกายในภาวะปกติ (วัดก่อนลุกออกจากเตียงในตอนเช้า) เคยเป็นวิธีการที่แนะนำให้ทำ เพื่อตรวจสอบว่ามีการตกไข่หรือไม่่ โดยทั่วไปผู้หญิงมักมีอุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้น 0.5 º F ถึง 1.0 º F หลังมีการตกไข่อย่างไรก็ตาม การวัดอุณหภูมิร่างกายไม่สามารถใช้แปลผลได้ชัดเจนจึงมักไม่แนะนำให้ใช้ในการประเมินภาวะการมีบุตรยาก
ระดับฮอร์โมน
ระดับของลูทิไนซิงฮอร์โมน หรือ Luteinizing hormone (LH) จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนเกิดการตกไข่ประมาณ38 ชั่วโมง   โดยผู้ป่วยสามารถตรวจเองได้ที่บ้านด้วยชุดตรวจปัสสาวะที่มีขายตามท้องตลาด อย่างไรก็ตามชุดตรวจดังกล่าวนี้มีอัตราตรวจผิดพลาดได้ประมาณร้อยละ 15   แพทย์จึงมักแนะนำให้ใช้วิธีการตรวจเลือดเพื่อยืนยันการตกไข่

การตรวจระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรน (Progesterone) นั้นเป็นการตรวจการตกไข่ที่แม่นยำกว่า โดยปกติระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนจะเพิ่มขึ้นหลังจากการตกไข่

รอบประจำเดือน - กุลพัฒน์การแพทย์ สหคลินิก
วิธีการประเมินมดลูกและท่อนำไข่

ความผิดปกติของมดลูกที่เป็นเหตุให้มีบุตรยากนั้นมีหลายอย่างเช่น ความผิดปกติทางโครงสร้างของมดลูก เช่น Uterine septum (การมีแถบเนื้อเยื้อผิดปกติในโพรงมดลูก ที่ทำให้โพรงมดลูกมีขนาดเล็ก) หรือการมดลูกที่มีรูปร่างผิดปกติ  เนื้องอกของมดลูก ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก และความผิดปกติที่เกิดจากกระบวนการทางนรีเวช (เช่นรอยแผลเป็นที่เกิดจากทำแท้งหรือขูดมดลูกเป็นต้น)

อวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง- กุลพัฒน์การแพทย์ สหคลินิก


พังผืดและการอุดตันของท่อนำไข่อาจเกิดขึ้นจากอุ้งเชิงกรานอักเสบติดเชื้อ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) และพังผืดที่เกิดจากการติดเชื้อหรือการผ่าตัดในช่องท้อง
อุลตราซาวด์บริเวณอุ้งเชิงกราน

การอุลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด ทำโดยใช้หัวตรวจขนาดเล็กสอดเข้าไปในช่องคลอด  โดยวิธีนี้จะให้ภาพของมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจนกว่าการอุลตราซาวด์ผ่านหน้าท้อง โดยสามารถวัดขนาดหรือรูปร่างของมดลูกและรังไข่ได้   และดูความผิดปกติได้ เช่นเนื้องอก หรือถุงน้ำในรังไข่   ในกรณีที่พบความผิดปกติอาจต้องมีการขอตรวจเพิ่มเติม

การอุลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด - กุลพัฒน์การแพทย์ สหคลินิก


การฉีดสีเพื่อดูท่อนำไข่และมดลูก (Hysterosalpingogram/HSG)
วิธีนี้ใช้เพื่อหาความผิดปกติของโครงสร้างของโพรงมดลูกและท่อนำไข่     โดยสอดสายยางขนาดเล็กผ่านปากมดลูกเข้าไปยังโพรงมดลูกและฉีดน้ำที่สามารถมองเห็นจากเอ็กซเรย์ได้ เข้าไปในโพรงมดลูกและท่อนำไข่    จากนั้นทำการเอ็กซเรย์จะเห็นโครงสร้างของโพรงมดลูกและท่อนำไข่     มดลูกที่มีรูปร่างผิดปกติ หรือมีการตันของท่อนำไข่สามารถตรวจพบได้จากวิธีนี้

การทดสอบ HSG สามารถทำได้โดยไม่ต้องวางยาสลบ ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดท้องน้อยระดับปานกลางถึงมากขณะที่ฉีดน้ำเข้าไปในโพรงมดลูกและอาการจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป 5-10 นาที     การตรวจนี้จะทำในช่วง 5-7 วันหลังประจำเดือน (ก่อนจะมีการตกไข่)

การฉีดสีเพื่อดูท่อนำไข่และมดลูก (Hysterosalpingogram/HSG) - กุลพัฒน์การแพทย์ สหคลินิก


การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy)
ทำโดยสอดท่อขนาดเล็กที่มีแหล่งกำเนิดแสง ผ่านปากมดลูกไปยังโพรงมดลูก แล้วจะมีการฉีดอากาศหรือของเหลวเข้าไปขยายโพรงมดลูก เพื่อให้ผู้ตรวจสามารถเยื่อบุโพรงมดลูกและบริเวณที่ท่อนำไข่มาต่อกับมดลูกได้อย่างชัดเจน
วิธีการนี้มักใช้ในรายที่คิดว่ามีความผิดปกติของมดลูกหลังจากวิเคราะห์ประวัติ หลังการฉีดสี (HSG) หรือจากการอุลตราซาวด์แล้ว การตรวจส่องกล้องโพรงมดลูกเพื่อวินิจฉัยสามารถทำได้โดยไม่ต้องวางยาสลบหรือยาชา แต่หากเกิดความจำเป็นต้องมีการผ่าตัดเพิ่มเติม(ผ่านทางการส่องกล้องโพรงมดลูก) จะต้องดำเนินการผ่าตัดในห้องผ่าตัด โดยการวางยาสลบหรือฉีดยาชาที่ไขสันหลัง

การส่งกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy) - กุลพัฒน์การแพทย์ สหคลินิก

การผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้อง (Laparoscopy)

เป็นวิธีการใช้ท่อขนาดเล็กที่มีแหล่งกำเนิดแสงเช่นกันแต่สอดผ่านแผลขนาดเล็กที่บริเวณหน้าท้อง เพื่อดูอวัยวะในช่องท้องและอุ้งเชิงกรานโดยเฉพาะมดลูก  รังไข่และท่อนำไข่ วิธีนี้จะทำที่ห้องผ่าตัดและวางยาสลบ

การผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้องนี้สามารถตรวจพบความผิดปกติและการอุดตันของท่อนำไข่ เยื้อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) และความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน นอกจากนี้การผ่าตัดผ่านกล้องยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจหาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) หรือพังผืดในอุ้งเชิงกราน อย่างไรก็ตามการผ่าตัดผ่านกล้องนี้ไม่ใช่การตรวจทั่วไปของภาวะมีบุตรยาก จะทำเฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

การผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้อง (Laparoscopy) - กุลพัฒน์การแพทย์ สหคลินิก


การทดสอบทางพันธุกรรม

การตรวจโครโมโซมจะแนะนำให้ตรวจ เมื่อสงสัยว่าความผิดปกติของโครโมโซมเป็นเหตุมีบุตรยาก การตรวจจะใช้เลือดปริมาณเล็กน้อย  เพื่อส่งห้องปฏิบัติการในการวิเคราะห์ หากพบความผิดปกติ แพทย์จำเป็นต้องหารือถึงความเป็นไปได้และผลที่จะตามมาของกรรมพันธุ์ที่จะส่งต่อไปยังรุ่นลูก

การทดสอบทางพันธุกรรม - กุลพัฒน์การแพทย์ สหคลินิก


การดูแลสภาวะจิตใจระหว่างการประเมินภาวะมีบุตรยาก

เมื่อคู่สมรสต้องการมีบุตรแต่ไม่สามารถทำได้ มักนำไปสู่ภาวะทางอารมณ์หลายแบบไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ ความรู้สึกอับอาย หรือรู้สึกผิด ข้อมูลจากการศึกษาผู้ที่ประสบกับภาวะการมีบุตรยาก พบว่าร้อยละ 40 จะมีผลกระทบทางจิตใจร่วมด้วย

ปัญหาวิตกกังวล ซึมเศร้าและอาการอื่นๆนั้นเป็นได้ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง อาการเหล่านี้จะทำให้การรักษาภาวะการมีบุตรยากประสบความสำเร็จยากขึ้นไปอีก ในขณะเดียวกันการบรรเทาผ่อนคลายความเครียดจะช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้นได้

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาอาการทางจิตใจที่สัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยาก อย่างไรก็ตาม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำเทคนิคการผ่อนคลาย การจัดการกับความเครียด การฝึกให้รับสถานการณ์และรักษาโดยวิธีกลุ่มบำบัด อาจต้องปรึกษาจิตแพทย์หากผู้ป่วยมีความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้าอย่างมาก

กุลพัฒน์การแพทย์ สหคลินิก



การรักษาภาวะมีบุตรยาก

มีวิธีการมากมายในการรักษาภาวะมีบุตรยากทั้งในชายและหญิง เช่นการผ่าตัด (ในกรณีมีความผิดปกติของโครงสร้าง)  การใช้ยาชักนำการตกไข่   การฉีดเชื้อน้ำเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก (Intrauterine insemination; IUI), หรือการปฎิสนธินอกร่างกาย (In-vitro fertilization; IVF) รวมทั้งการใช้อสุจิหรือไข่บริจาค