Find us on facebook youtube

สิ่งที่ควรระวังในการเปรียบเทียบผลความสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้วของแต่ละคลินิก

ข้อมูลทางสถิติ (วิธีการเก็บข้อมูล และลักษณะของประชากรที่นำมาศึกษา)
วิธีการรักษาทุกๆอย่าง นั้นสามารถเกิดผลลัพธ์ที่ต่างกันได้ ไม่ว่าจะน่าพีงพอใจหรือไม่ สิ่งที่จะบอกได้ดีที่สุดว่าวิธีการรักษานั้นๆดีจริงหรือไม่ ต้องอาศัยข้อมูลเชิงสถิติ ที่ทำให้เราสามารถทราบถึงอัตราการเกิดผลลัพท์แบบต่างๆ (เช่นรักษาด้วยวิธีการ A แล้วจะดีขึ้นกี่เปอร์เซนต์ แย่ลงกี่เปอร์เซนต์ เป็นต้น) และสามารถเปรียบเทียบถึงผลลัพธ์ของแต่ละวิธีได้ แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลทางสถิติยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากการศึกษาในแต่ละงานวิจัยนั้นมีลักษณะของประชากร และสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน อาจไม่ตรงกับตัวของคู่สมรสที่มารับการรักษาเนื่องจากในแต่ละคู่สมรสมีปัจจัยทางกายภาพ และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน จึงส่งผลให้ความสำเร็จในการรักษาไม่เหมือนกันในแต่ละคู่

ในกลุ่มประชากรที่แตกต่างกัน การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ จะสำเร็จแตกต่างกันอย่างไร
ประเด็นสำคัญในการนำมาประเมินอัตราความสำเร็จ คือ กลุ่มประชากรที่นำมาศึกษาในงานวิจัยนั้นๆ เพราะคู่สามีภรรยาที่เข้าร่วมงานวิจัย ซึ่งถือเป็นประชากรที่นำมาแปลผลในงานวิจัย ไม่ได้เริ่มนับตั้งแต่การย้ายตัวอ่อนเข้าฝังตัวในมดลูก แต่อาจนับเริ่มตั้งแต่ เข้ารับการกระตุ้นให้ตกไข่ การเก็บไข่หรือ การย้ายตัวอ่อนสู่โพรงมดลูกก็ได้ และอัตราความสำเร็จในแต่ละกลุ่มก็ต่างกันไป หากเก็บข้อมูลในกลุ่มที่นับเริ่มตั้งแต่การย้ายตัวอ่อนสู่โพรงมดลูกก็จะพบว่ามีอัตราความสำเร็จสูงที่สุด (มากกว่านับตั้งแต่การกระตุ้นไข่ ซึ่งบางรายกระตุ้นไข่ไม่ขึ้นตั้งแต่ต้น ดังนั้นจึงมีโอกาสที่กลุ่มนี้จะล้มเหลวสูงกว่ากลุ่มที่เริ่มเก็บข้อมูลที่การย้ายตัวอ่อนซึ่งเป็นกระบวนการรักษาท้ายๆ) ดังนั้นการนำเอางานวิจัยมาเปรียบเทียบผลความสำเร็จกันนั้นต้องแน่ใจว่าได้ข้อมูลที่มีประชากรพื้นฐานคล้ายคลึงกัน เพื่อจะได้คาดการณ์ผลสำเร็จไม่คลาดเคลื่อนมาก เช่นหากจะดูอัตราความสำเร็จของการคลอดทารกแบบมีชีวิตต่อวิธีการใช้ตัวอ่อนแช่แข็งและทำการย้ายตัวอ่อนเข้าฝังตัวในมดลูก ก็ต้องเลือกดูผลศึกษาของงานวิจัยที่เลือกประชากรที่ใช้วิธีการนำตัวอ่อนแช่แข็งและย้ายตัวอ่อนเข้าฝังตัวในมดลูกเหมือนกัน เป็นต้น

การเลือกผู้ป่วยเข้ารับการรักษา และวิธีการเพิ่มอัตราความสำเร็จของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
ความคิดผิดๆที่เกิดจากการมองแต่จำนวนอัตราความสำเร็จของคนทั่วไป ทำให้หน่วยงานเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์(เด็กหลอดแก้ว)แต่ละที่พยายามเพิ่มอัตราความสำเร็จของตนเองโดยวิธีการเลือกผู้ป่วยที่จะมาทำการรักษา โดยมักจะเลือกแต่ผู้ป่วยที่สุขภาพดี และมีปัญหาที่มีผลต่อการทำเด็กหลอดแก้วไม่มาก อายุไม่เกิน 35 ปี ซึ่งทำให้มีโอกาสสำเร็จสูง และในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะไม่สำเร็จสูง จะไม่ถูกคัดเลือกเข้ารับการรักษา เช่น สตรีที่อายุมากกว่า 38 ปี ซึ่งจะมีการทำงานของรังไข่ไม่ค่อยดี เป็นต้น ดังนั้นตัวเลขสถิติความสำเร็จที่ดี อาจมาจากการคัดเลือกผู้ที่เข้ารับการรักษาที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีปัญหาน้อย มากกว่าจะเลือกผู้ที่มีปัญหาหลายๆอย่างก็เป็นได้

ไม่มีอัจฉริยะ หรือนักมายากล
ปัจจุบันนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์(เด็กหลอดแก้ว)มากมาย แต่ก็ไม่มีผู้ใดที่มีอำนาจพิเศษที่จะทำให้สำเร็จได้ทุกครั้งหลักการแพทย์นั้นเป็นมาตรฐานให้แพทย์ที่ทำการรักษาปฏิบัติตามแนวทางที่มีอยู่ แม้ว่าคุณภาพของการดูแลรักษาผู้ป่วยและเทคนิคทางห้องปฏิบัติการนั้นสำคัญต่อความสำเร็จ ซึ่งทุกสถาบันก็ให้ความใส่ใจไม่แตกต่างกัน ผลความสำเร็จที่แตกต่างกันในแต่ละคลินิกนั้นส่วนใหญ่มาจากลักษณะที่แตกต่างกันของผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษามากกว่าการรักษาที่ต่างกัน
อัตราความสำเร็จของแต่ละที่นั้นไม่อาจเดาได้และมีความหมายน้อยมากในการคาดการณ์ว่าคู่สมรสที่มารับการรักษาคู่นั้นๆจะประสบความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วหรือไม่ เนื่องจากในแต่ละที่มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่มีความยากง่ายแตกต่างกันทำให้เกิดผลสำเร็จที่ต่างกัน ขณะทีผู้เชี่ยวชาญนั้นทราบดีในประเด็นนี้ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนักและยึดติดอยู่กับค่าตัวเลขสถิติ อย่างไรก็ตามอย่าลืมคิดว่าสถาบันที่มีสถิติที่ดีไม่ได้หมายถึงการรักษาที่ดีเสมอไป
เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์(เด็กหลอดแก้ว)นั้นเป็นเหมือนเกมตัวเลข ที่เป็นการเพิ่มความสามารถในการมีบุตร โดยการนำเอาความสามารถในการมีบุตรตามธรรมชาติของหลายๆเดือนมารวมกันในรอบเดือนเดียวนั่นเอง

Back